
ThaiDataHosting คือคลาวด์โฮสติ้งไทย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการคลาวด์โฮสติ้งประสิทธิภาพสูง (Cloud WordPress Hosting) เซิร์ฟเวอร์แรงรองรับลูกค้าได้ทั้งในไทย และต่างประเทศ ปรับแต่งเซิร์ฟเวอร์มาเพื่อเว็บ WordPress โดยเฉพาะ มี Technical Support ที่เป็นคนไทย รวมถึงมีโปรโมชั่นจดโดเมนเนมฟรี และแถมปลั๊กอิน WP-Rocket เพื่อเพิ่มความเร็วให้เว็บไซต์ WordPress แบบสุดคุ้ม
บทความชุดนี้ แอดเขียนขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อเป็นคู่มือสำหรับผู้ที่ต้องการทราบขั้นตอนการสร้างเว็บด้วย WordPress อย่างละเอียด ตั้งแต่สมัครเว็บโฮสติ้ง การจดโดเมนเนม ไปจนถึงการติดตั้ง WordPress บน ThaiDataHosting พร้อมวิธีตั้งค่าเซิร์ฟเวอร์ต่างๆด้วยตนเอง โดยคุณสามารถอ่าน และทำตามแต่ละขั้นตอนได้ทันที เมื่ออ่านจบก็จะมีเว็บไซต์ของตัวเองที่พร้อมใช้งาน
สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับ WordPress หรือการเช่าเว็บโฮสติ้งเอง แอดแนะนำให้อ่านบทความสำหรับผู้เริ่มต้น “สร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress” กันก่อน
เลือกโฮสติ้งแพคเกจ และจดโดเมนเนม
1.1 เมื่อเราเข้ามาที่เว็บ ThaiDataHosting จะมี Cloud Hosting อยู่ 4 แบบให้เราเลือก ดังนี้
- Cloud Linux Hosting: โฮสติ้งเว็บแบบทั่วไป
- Cloud WordPress Hosting: คลาวด์โฮสติ้งที่ออกแบบมาสำหรับเว็บ WordPress โดยเฉพาะ (สำหรับเว็บ WordPress หรือ WooCommerce แอดแนะนำโฮสติ้งแพคเกจนี้)
- Cloud Linux Hosting VIP: คล้ายๆกับ Cloud WordPress Hosting แต่เป็นเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่มีอัตราการแชร์ทรัพยากรเครื่องเซิร์ฟเวอร์น้อยกว่า เหมาะสำหรับเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมจำนวนมาก
- Cloud Virtual Private Server (VPS): เป็นโฮสติ้งแพคเกจแบบเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัว มีอัตราการแชร์ทรัพยากรในเครื่องเซิร์ฟเวอร์น้อยที่สุด

1.2 สำหรับการสร้างเว็บ WordPress บน ThaiDataHosting แบบ Cloud WordPress Hosting จะมีแพคเกจย่อยให้เลือกอยู่ 4 แบบ โดยทุกแพคเกจจะได้รับฟีเจอร์เสริมเหมือนกันทั้งหมด จะแตกต่างกันที่จำนวนทรัพยากรของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่เราจะได้เป็นหลัก
ทุกแพคเกจใน Cloud WordPress Hosting มีจดโดเมน .com ให้ฟรี รวมถึงเรายังสามารถขอติดตั้งปลั๊กอินยอดนิยม WP-Rocket เพื่อช่วยเพิ่มความเร็วให้เว็บไซต์ของเราได้ฟรีอีกด้วย (ราคาปกติของปลั๊กอิน WP-Rocket จะอยู่ที่ราวๆ 1,500 บาทต่อปี)
สำหรับเว็บไซต์เริ่มต้น แพคเกจ WP-HOSTING-SSD#1 ที่มีพื้นที่ 10 GB นั้นถือว่าเหลือเฟือ แพคเกจนี้เราสามารถสร้างเว็บไซต์ WordPress ได้ 2 เว็บ (หรือ CMS อื่นๆที่ต้องใช้ฐานข้อมูลแบบ MySQL) สำหรับใครที่ต้องการติดตั้ง CMS มากกว่า 2 ชุด ให้ดูจำนวน MySQL Database ที่เหมาะสมด้วย
อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการสร้างร้านขายของออนไลน์โดยใช้ปลั๊กอิน WooCommerce ร่วมกับ WordPress นั้น เราจะใช้ฐานข้อมูล MySQL เพียง 1 ฐานข้อมูล เนื่องจาก WooCommerce ใช้ฐานข้อมูลร่วมกับ WordPress
เมื่อเลือกโฮสติ้งแพคเกจที่ต้องการได้แล้วให้คลิกที่ สั่งซื้อ
1.3 ขั้นตอนนี้จะเป็นการเลือกโดเมนเนมหลักสำหรับโฮสติ้งแพคเกจที่เราเลือก โดยเราสามารถเลือกว่าจะจดโดเมนเนมใหม่ (จดโดเมน .com ได้ฟรี) ย้ายโดเมนที่จดไว้กับที่อื่นมาที่ ThaiDataHosting หรือ เพียงแค่เปลี่ยน DNS ของโดเมนเนมที่มีอยู่แล้วชี้มาที่เซิร์ฟเวอร์ของ ThaiDataHosting
ในกรณีที่เราจดโดเมนเนมใหม่ ให้กรอกชื่อโดเมน และนามสกุลโดเมนเนมที่ต้องการจากนั้นคลิกที่ ตรวจสอบ หากโดเมนเนมที่เราเลือกนั้นสามารถจดได้ ให้เราคลิกที่ ดำเนินการต่อ ด้านล่าง เพื่อไปยังขั้นต่อไป

1.4 ให้เราตรวจสอบรายละเอียดแพคเกจที่เลือกไว้ (หากจดโดเมนเนม .com ใหม่กับ ThaiDataHosting ให้ตรวจสอบในช่อง จดโดเมนเนม .com ฟรี ด้วย) จากนั้นเลือกว่าเราจะต้องการเช่าโฮสติ้ง (และต่ออายุ) ทุกๆกี่ปี จากนั้นคลิกที่ ดำเนินการต่อ

1.5 ในกรณีที่เราจดชื่อโดเมนเป็นภาษาอังกฤษ IDN Language สามารถใช้ค่าตั้งต้น NOIDN ได้เลย แต่หากเราจดชื่อโดเมนเป็นภาษาไทยให้เราเปลี่ยน NOIDN เป็น THA ด้วย เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้วคลิกที่ ดำเนินการต่อ

1.6 ให้เราตรวจสอบราคาโฮสติ้งแพคเกจ และราคาโดเมนเนม จากนั้นคลิกที่ Checkout

1.7 เราจะเข้าสู่ขั้นตอนการสมัครสมาชิก ให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัว อีเมล์ ชื่อ-ที่อยู่ สำหรับส่งเอกสารใบกำกับภาษี รวมถึงให้เราตั้งรหัสผ่านที่ใช้สำหรับเข้า Admin Panel ใน ThaiDataHosting สำหรับจัดการเรื่องโดเมนเนม และการต่ออายุโฮสติ้ง จากนั้นคลิกที่ ยืนยันและทำการสั่งซื้อ


1.8 จะมีใบแจ้งยืนยันการสั่งซื้อส่งไปที่อีเมล์ที่เราให้ไว้ ให้เราคลิกที่ วิธีชำระค่าบริการ เพื่อดูวิธีการชำระค่าบริการ หลังจากที่เราทำการชำระค่าบริการเรียบร้อยแล้ว ให้เราคลิกที่ แจ้งการชำระค่าบริการ


1.9 ให้เรากรอกรายละเอียดต่างๆในการแจ้งชำระค่าบริการให้ครบถ้วน จากนั้นคลิกที่ ส่งข้อมูล

1.10 หลังจากที่เราแจ้งยืนยันการโอนเงินแล้ว รอประมาณไม่เกิน 1 ชั่วโมง จะมีรายละเอียดข้อมูลการใช้งานเว็บโฮสติ้งส่งมาที่อีเมล์ของเรา ซึ่งจะมีข้อมูล username, password และลิงก์สำหรับการเข้าใช้งาน Direct Admin ซึ่งเป็น Admin Panel สำหรับระบบหลังบ้านที่เราจะใช้ในการติดตั้ง WordPress รวมถึงตั้งค่าเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ
โดยลิงก์ที่ใช้ในการเข้า Direct Admin สามารถเข้าได้จาก URL ของเรา หรือใช้ URL ของ ThaiDataHosting ก็ได้ ซึ่งหากเราใช้ URL ของโดเมนเนมเราในการเข้า Direct Admin หากเราจดโดเมนเนมกับที่อื่น เราจะต้องรอให้ DNS อัพเดทให้เรียบร้อยก่อนจึงจะเข้าใช้งานได้ (URL ของ ThaiDataHosting สามารถเข้าใช้งานได้เลย โดยไม่ต้องรอ DNS Update)



1.11 นอกจากหน้า Direct Admin ที่ใช้จัดการระบบหลังบ้านในเว็บไซต์ของเราแล้ว ยังมี Admin Panel ที่ (หรือ Client Area) อยู่บนเว็บไซต์ของ ThaiDataHosting
การล็อกอินเข้าหน้า Admin Panel นั้น ให้เราเข้าไปที่เว็บ ThaiDataHosting จากนั้นคลิกที่ Client Login ที่อยู่เมนูด้านขวาบน จากนั้นใส่อีเมล์ และ รหัสผ่าน ที่เราสรา้งไว้ในขั้นตอนที่ 1.7 เราจะเข้าสู่หน้า Client Area ที่ซึ่งเราสามารถใช้งานต่างๆเกี่ยวกับการจัดการโฮสติ้งแพคเกจของเราได้ ดังนี้
- ต่ออายุโดเมนเนม หรือจดโดเมนเนมใหม่
- ต่ออายุโฮสติ้ง หรือสั่งซื้อโฮสติ้งใหม่
- ล็อกอินเข้าสู่ Direct Admin
- ติดต่อ สอบถามข้อสงสัยกับทีมงาน Technical Support ผ่านระบบ Support Ticket
- ดูใบเรียกเก็บเงิน



สมัคร CloudFlare CDN และตั้งค่า DNS
ขั้นตอนในส่วนที่สองนี้ จะเป็นการสมัคร CloudFlare CDN รวมถึงการตั้งค่าโดเมนเนมเพื่อให้เว็บของเราสามารถโหลดคอนเทนต์ต่างๆผ่าน CloudFlare ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์ของเรา รวมถึงช่วยประหยัดปริมาณการรับ-ส่งไฟล์ (แบนด์วิธ) จากเว็บเซิร์ฟเวอร์ของเราได้อีกด้วย
- สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใช้งาน CloudFlare สามารถข้ามไปยังขั้นตอนที่ 3. การติดตั้ง WordPress บน ThaiDataHosting ได้เลย
2.1 เข้าไปที่เว็บไซต์ของ CloudFlare จากนั้นคลิกที่ Sign Up ด้านขวาบน

2.2 ใส่อีเมล์ของเรา จากนั้นตั้งรหัสผ่าน และคลิกที่ Create Account โดย CloudFlare จะส่งลิงก์ยืนยันการสมัครไปตามอีเมล์ที่เราให้ไว้

2.3 เข้าไปที่เมล์บ๊อกซ์ของเรา (หากไม่เจอลองดูใน Spam Folder) คลิกที่ลิงก์ในอีเมล์ เพื่อเป็นการยืนยันการสมัคร CloudFlare

2.4 จากนั้นล็อกอินเข้าไปยัง Admin Panel และคลิกที่ปุ่ม Add a Site

2.5 ใส่ชื่อโดเมนเนมของเราแบบไม่มี www นำหน้า จากนั้นคลิกที่ Add Site

2.6 เลือกแพคเกจ CloudFlare Free จากนั้นคลิกที่ Confirm Plan

2.7 เมื่อเข้ามาหน้านี้ให้เราตรวจสอบว่าเมฆ CloudFlare ด้านขวาเป็นสีเทาทั้งหมด หากอันไหนเป็นสีส้ม ให้คลิกที่เมฆเพื่อเปลี่ยนเป็นสีเทาก่อน (ยังไม่ใช้งาน CloudFlare) จากนั้นคลิกที่ Confirm
ในขั้นตอนนี้คือการเที่เราปิดการใช้งาน CloudFlare ก่อนชั่วคราว เมื่อเราตั้งค่า SSL ต่างๆเสร็จเรียบร้อยจึงจะกลับมาที่ CloudFlare เพื่อตั้งค่า DNS Record ในแต่ละช่อง พร้อมติดตั้ง SSL Certificate ให้เรียบร้อยก่อนในขั้นตอนที่ 3 กับ 4 แล้วเราจึงค่อยกลับมาเปิดใช้งาน CloudFlare อีกครั้ง
2.8 คลิกที่เมนู DNS จากแถบเมนูด้านบน เพื่อเข้าสู่หน้า DNS Management จากนั้นเลื่อนลงมาด้านล่างตรงช่อง NS จะเห็น Nameserver ของ CloudFlare เราจะต้องเอาชื่อ Nameserver สองอันนี้ไปใส่ในหน้า Nameserver ของ ThaiDataHosting
2.9 กลับไปที่หน้า Admin ที่เว็บไซต์ ThaiDataHosting (ในขั้นตอนที่ 1.11) จากนั้นคลิกที่เมนู โดเมนเนม เพื่อเข้าสู่หน้าที่ใช้จัดการตั้งค่าโดเมนเนมของเรา

2.10 ในหน้า โดเมนเนมของฉัน ให้คลิกที่ไปคอนรูปประแจ ที่อยู่ด้านซ้ายของชื่อโดเมนเนมที่เราต้องการตั้งค่าเพื่อเข้าสู่ Domain Admin

2.11 คลิกที่เมนู Registrar Lock ให้สังเกตที่ Registrar Lock Status ถ้าขึ้นว่าเปิดใช้งานอยู่ ให้เราปลดล็อคชั่วคราวโดยคลิกที่ Disable Registrar Lock

2.12 คลิกที่เมนู Nameservers จากนั้นเอา Nameserver ที่ได้จาก CloudFlare ในขั้นตอน 2.8 มาใส่ในช่อง Nameserver 1 และ 2 จากนั้นคลิกที่ แก้ไข Nameservers วิธีนี้เป็นการย้ายการใช้งาน DNS Server จาก ThaiDataHosting ไปที่ CloudFlare แทน
หลังจากที่เราแก้ไข Nameserver เสร็จแล้ว ให้กลับไปที่หน้า Registrar Lock จากนั้นคลิกที่ปุ่ม Enable Registrar Lock เพื่อกลับมาล็อคกันการแก้ไข Nameserver เหมือนเดิม

2.13 โดยปกติเวลาเราแก้ไข Nameserver จะต้องรอให้ DNS Server ทั่วโลกทยอยอัพเดท Nameserver ใหม่ที่เราใส่เข้าไป (DNS Propagation) ซึ่งใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง โดยเราสามารคเช็คสถานะ DNS ของเราได้จากเว็บ DNS ต่างๆ เช่น DNS Checker โดยระหว่างที่รอการอัพเดท DNS นั้น เราสามารถสมัคร CloudWays ในขั้นตอตต่อไปขนานกันไปได้เลย
ตั้งค่า DNS ใน CloudFlare
หลังจากที่เราได้ทำการสมัคร CloudFlare และตั้งค่า Nameserver เรียบร้อย ในส่วนที่สามนี้เราจะล็อกอินเข้าสู่ Direct Admin ซึ่งเป็นระบบหลังบ้าน ที่เราใช้จัดการการตั้งค่าต่างๆสำหรับโฮสติ้งแพคเกจของเรา รวมถึงทำการติดตั้ง WordPress (หรือ CMS อื่นๆ) จากส่วนนี้ด้วย
โดยก่อนที่จะติดตั้ง WordPress นั้น ให้เราทำการตั้งค่า DNS เพื่อให้ CloudFlare เชื่อมต่อมายังเซิร์ฟเวอร์ของเราก่อน
3.1 การล็อกอินเข้ามายังหน้า Direct Admin บนเซิร์ฟเวอร์เรานั้น สามารถเข้าได้สองทางคือ (1) จากลิงก์ในอีเมล์ข้อมูลสำหรับการใช้งานเว็บโฮสติ้งที่ ThaiDataHosting ส่งมาให้เราในขั้นตอนที่ 1.10

หรือ (2) ให้เราเข้าไปที่เว็บไซต์ ThaiDataHosting จากนั้นล็อกอินเข้าไปยัง Client Area ในขั้นตอนที่ 1.11 จากนั้นคลิกที่โฮสติ้งแพคเกจของเราในช่อง Your Active Product/Services จากนั้นคลิกที่ Login To Direct Admin


3.2 ให้เราคลิกที่เมนู DNS Management เพื่อเข้าสู่หน้าสำหรับการตั้งค่า DNS Records

3.3 ในหน้านี้ จะมีรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับ DNS Records ที่เราต้องเอาไปตั้งค่าใน CloudFlare

3.4 กลับเข้ามายัง CloudFlare อีกครั้ง ให้เราเลือกเว็บไซต์ที่เราต้องการตั้งค่า DNS จากนั้นคลิกที่เมนู DNS ด้านบน

3.5 ให้เรานำ DNS Records แต่ละบรรทัดจาก ThaiDataHosting ในขั้นตอนที่ 3.3 มาใส่ใน CloudFlare ให้ครบ ไล่ตั้งแต่ A Records 6 รายการ, MX Records 1 รายการ และ TXT Records อีก 2 รายการ (ไม่ต้องใส่ NS Records เนื่องจากเราใช้ Nameserver ของ CloudFlare อยู่แล้ว)
อย่าลืมเปลี่ยนเมฆส้มใน Proxy Status ทุกรายการให้เป็นสีเทาก่อน (ปิดใช้งาน CloudFlare) ซึ่งเราจะกลับมาเปิดหลังติดตั้ง SSL Certificate เสร็จแล้ว

การตั้งค่า
CloudFlare DNS Records
- A Records: ใส่เลข IP Address ของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่โฮสติ้งแพคเกจของเราใช้งานอยู่ เช่น 12.34.567.89
- MX Records: ใส่เมล์เซิร์ฟเวอร์สำหรับใช้งานอีเมล์บนเซิร์ฟเวอร์ของ ThaiDataHosting เช่น mail.mydomain.com
- TXT Records: สำหรับตั้งค่าใช้งานร่วมกับ MX Records โดย TXT Record โดยให้เราเอาค่าจากในช่อง Value ขั้นตอนที่ 3.3 มาใส่
- MX Records บรรทัดแรก (root domain) จะเป็นการระบุ IP Address ของเมล์เซิร์ฟเวอร์
- MX Records บรรทัดที่สอง (x._domainkey) คือ DKIM (Domain Keys Identified Mail) เป็นลายเซ็นดิจิทัลเพื่อยืนยันว่าอีเมล์ถูกส่งมาจากเมล์เซิร์ฟเวอร์ในชื่อโดเมนเราจริง
* ในส่วนของ NS Records นั้นไว้ใส่ค่า Nameserver กรณีที่เราต้องการใช้งาน DNS Servers ของที่อื่น แต่ในตัวอย่างนี้เราจะไม่ใส่ Nameserver เนื่องจากเราได้ตั้งค่าไว้ใน ThaiDataHosting ในขั้นตอนที่ 2.12 เพื่อใช้ CloudFlare เป็น DNS Server ไปแล้ว

โดยปกติตอนเราเพิ่มโดเมนเนมของเราใน CloudFlare จะทำการตรวจสอบ และเพิ่มรายการ DNS Record ต่างๆให้โดยอัตโนมัติอยู่แล้วในขั้นตอนที่ 2.7 เราเพียงแค่เปลี่ยนข้อมูลในช่อง Content ให้ตรงกับใน ThaiDataHosting
แต่หากรายการ DNS Records ของเราขึ้นไม่ครบ เราสามารถเพิ่มเองได้โดยคลิกที่ปุ่ม +Add Record เลือก DNS Type เช่น A, MX, TXT ใส่รายละเอียด จากนั้นคลิกที่ Save (สามารถใส่ได้ทีละ Records)
ในส่วนของ A Records เราจะต้องใส่เลข IP Address ให้ครบทั้ง 6 Records ในแต่ละช่อง Name คือ
- @ สำหรับ Root Domain (สำหรับใช้งาน mydomain.com)
- www สำหรับ www Domain (สำหรับใช้งาน www.mydomain.com)
- ftp สำหรับรับ-ส่งไฟล์ผ่าน FTP (สำหรับใช้งาน ftp.mydomain.com)
- mail สำหรับเมล์เซิร์ฟเวอร์ (ให้ตั้งเป็น mail.ชื่อโดเมน เช่น mail.mydomain.com)
- pop สำหรับรับเมล์ผ่านเมล์เซิร์ฟเวอร์
- map สำหรับส่งเมล์ผ่านเมล์เซิร์ฟเวอร์

ในส่วนของ MX Records ให้เลือก Type เป็น MX ในช่อง Name เราต้องใส่ชื่อเมล์เซิร์ฟเวอร์ (เช่น mail.mydomain.com) ใส่ Priority เป็น 10 และเลือก TTL เป็น Auto
TTL: Time-To-Live หรือระยะเวลาในการแคชข้อมูลของ DNS Records นั้นๆก่อนที่จะอัพเดทข้อมูลใหม่
Priority กรณีที่เมล์เซิร์ฟเวอร์ของเรามี MX Records หลายตัวสามารถเลือกได้ว่าจะให้ติดต่อตัวไหนก่อน เช่น mail1.mydomain.com, mail2.mydomain.com เป็นต้น โดยเลขยิ่งน้อยจะหมายถึงให้ความสำคัญก่อน

ในส่วนของ TXT Records ให้เลือก Type เป็น TXT ในช่อง Name จะมีสองชุด คือ @ กับ x._domainkey เลือก TTL เป็น Auto และให้คัดลอกข้อความจากใน TXT Records จากใน ThaiDataHosting มาใส่
โดย TXT Records ใน ThaiDataHosting จะมีฟันหนู “” ปิดหัวท้าย ตอนเราคัดลอกลง CloudFlare อย่าลืมลบ “” ออกด้วย


หลังจากที่ตั้งค่าทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยให้ลองเข้าเว็บไซต์ของคุณ โดยพิมพ์ชื่อโดเมนเนมในช่อง URL ของเบราว์เซอร์ดู ซึ่งหากตั้งค่า DNS ถูกต้องเมื่อเข้าไปที่เว็บไซต์จะขึ้นหน้าตามรูปด้านล่าง

เปิดใช้งาน SSL Certificate และตั้งค่า https
การติดตั้ง และเปิดใช้งาน SSL Certificate นั้นจะทำให้ข้อมูลที่ส่งระหว่างผู้เยี่ยมชม กับเว็บเซต์ของเรามีการเข้ารหัสความปลอดภัย ซึ่งเว็บไซต์ของเราจะใช้ URL โปรโตคอลเป็น https:// แทน http:// ธรรมดา
ในกรณีที่เว็บไซต์เราใช้งานผ่าน CloudFlare เราจะต้องติดตั้ง SSL Certificate ไว้สองที่คือที่เซิร์ฟเวอร์ที่เราใช้งานโฮสติ้งอยู่ (Origin Certificate) และที่ CloudFlare (Edge Certificate) ซึ่งจะทำให้มีการเข้ารหัสข้อมูลทั้งจากเซิร์ฟเวอร์เราไปยัง CloudFlare และจาก CloudFlare ไปยังผู้เยี่ยมชม (End-to-end https)
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประเภทของ SSL บน CloudFlare

การติดตั้ง SSL บน ThaiDataHosting (Origin Certificate)
SSL Origin certificate นั้นเราจะติดตั้งบนโฮสติ้งเซิร์ฟเวอร์ (ThaiDataHosting) โดยใช้ Let’s Encrypt SSL Certificate
4.1 เข้ามาที่หน้า Direct Admin ในส่วนของ Advanced Features คลิกที่เมนู SSL Certificate เพื่อเข้าสู่หน้าการตั้งค่า SSL

4.2 ในหน้านี้ เราจะติดตั้ง SSL Certificate โดยให้เลือกติดตั้ง Free & automatic certificate from Let’s Encrypt ให้ดูในช่อง Common Name ว่าเป็นชื่อโดเมนของเรา ส่วน Key Size ให้เลือกใช้ 4096 bits (ยิ่งเยอะยิ่งปลอดภัย)
ในส่วนของ Let’s Encrypt Certificate Entries จะเป็นการเลือกว่าเราจะใช้ SSL ที่ไหนบ้าง ให้เลือกใช้สำหรับเว็บไซต์ของเรา (เลือกที่ชื่อโดเมนเนม)
เมื่อเสร็จแล้วให้คลิกที่ Save แล้วรอสักพักเพื่อให้เซิร์ฟเวอร์ทำการติดตั้ง SSL

เมื่อ Let’s Encrypt SSL Certificate ทำการติดตั้งสำเร็จ จะขึ้นหน้าตามรูปด้านล่าง
4.3 ให้เรากลับเข้ามาที่หน้า SSL Certificate อีกครั้ง เราจะเห็น SSL Key ของเว็บไซต์เราอยู่ในช่องตามรูปด้านล่าง
การเปิดใช้งาน HTTPS นั้นให้คลิกที่ Force SSL with https redirect จากนั้นคลิก Save การตั้งค่าในส่วนนี้จะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้งานทุกคนที่เข้ามายังเว็บไซต์ของเราใช้โปรโตคอล https เหมือนกันทั้งหมด โดยหากใครที่เข้าเว็บไซต์เราผ่านโปรโตคอล http จะถูกพาไปยัง https โดยอัตโนมัติ

4.4 ให้เราลองเข้าเว็บไซต์เราดู ในช่อง URL จะต้องเห็นโปรโตคอล https นำหน้าชื่อโดเมนเนมของเรา พร้อมทั้งมีเครื่องหมายล็อกแม่กุญแจ หากคลิกที่แม่กุญแจเราจะสามารถดูรายละเอียด SSL Certificate ของเว็บนั้นๆได้ (ถ้ายังไม่ได้ติดตั้ง SSL บน CloudFlare จะเห็น Certificate จะเป็นของ Let’s Encrypt)

การติดตั้ง SSL บน CloudFlare (Edge certificate)
หลังจากที่เราตั้งค่า SSL ในฝั่ง Origin Certificate บนเซิร์ฟเวอร์เราเรียบร้อยแล้ว ต่อไปจะเป็นการติดตั้ง SSL Edge Certificate บน CloudFlare
4.5 ให้เราเข้ามาที่ CloudFlare เลือกเว็บไซต์ที่ต้องการตั้งค่า คลิกที่เมนู SSL/TLS และเลือก Overview จากแถมเมนูย่อยด้านบน จากนั้นเลือกการเชื่อมต่อแบบ Full (strict)
การที่เราลือก Full (strict) หมายถึงจะมีการใช้งาน SSL ทั้งระหว่าง CloudFlare (Edge certificate) และ ThaiDataHosting (Origin certificate) โดยที่ CloudFlare จะตรวจสอบความถูกต้องของ SSL certificate ที่ติดตั้งอยู่บน ThaiDataHosting ด้วย โดย SSL ที่ใช้ได้จะต้องมาจาก CloudFlare หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตออก SSL (Certified Authority เช่น Let’s Encrypt) เพื่อป้องกันการสร้าง SSL certificate ปลอมขึ้นมาเอง

4.6 เลือกที่เมนูย่อย Edge Certificates เราจะเห็น CloudFlare ติดตั้ง SSL Certificate ให้โดยอัตโนมัติ ในหน้านี้ให้เราตรวจสอบการตั้งค่า Edge Certificate บน CloudFlare ตามนี้

การตั้งค่า
CloudFlare Edge Certificates
- Always Use HTTPS: (On) ให้เว็บไซต์เราเข้าใช้งานผ่านโปรโตคอล https เสมอ
- HSTS: (Off) แอดเรียกว่าเป็นการเปิดใช้งาน https แบบ “เข้มสุดๆ” คือถ้าคอนเทนต์บางส่วนของเว็บเราไม่มีการเรียกผ่าน https หรือเราตั้งค่าใดๆเพื่อปิด https ชั่วคราว (เช่นปิดเมฆส้ม CloudFlare หรือลบเว็บไซต์จาก CloudFlare) จะทำให้เว็บเรามีโอกาlเข้าใช้งานไม่ได้จนกว่าเวลาแคชเราจะหมด หรือทำการติดตั้ง https ใหม่
- Minimum TLS Version: (1.0 Default) เลือกเวอร์ชันการเข้ารหัสต่ำสุดที่ผู้เข้าชมใช้งานได้
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ TLS Version - Opportunistic Encryption: (On) เปิดใช้งานการเข้ารหัสผ่าน http และให้ใช้งาน HTTP/2 ได้ เพื่อรองรับกรณีเนื้อหาบางส่วนในเว็บไซต์ยังเป็น http อยู่ (เช่นรูป หรือ embedded script)
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Opportunistic Encryption - Onion Routing: (On) เพิ่มความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน Tor Browser
- TLS 1.3: (On) เปิดใช้งานการเข้ารหัสด้วย TLS 1.3 เวอร์ชันล่าสุด
- Automatic HTTPS Rewrites: (On) เปิดใช้งานการเข้ารหัสผ่าน https โดยอัตโนมัติสำหรับเนื้อหาบางส่วนที่เรียกถูกผ่าน http แต่รองรับ https (เช่นรูป หรือ embedded script)
- Certificate Transparency Monitoring: (On) เปิดใช้งานให้มีอีเมล์แจ้งเตือนเวลาตรวจพบการออก SSL ในชื่อโดเมนเนมของเรา (ใช้แจ้งเตือนกรณีคนอื่นออก SSL โดยปลอมชื่อโดเมนเนมเรา)


ในส่วนของเมนู Origin Server จะเป็นการสร้าง SSL Certificate สำหรับฝั่งเซิร์ฟเวอร์โฮสติ้งของเรา ในตัวอย่างนี้เราจะไม่ได้ใช้ เนื่องจากเราจะติตตั้ง Origin Certificate ด้วย Let’s Encrypt จาก Direct Admin ของ ThaiDataHosting แทน
แต่หากใครต้องการใช้งาน Origin SSL ของทาง CloudFlare สามารถคลิกที่ Create Certificate แล้วเลือก Private Key Type เป็น RSA จากนั้นคัดลอก Private Key ไปใส่ในหน้า SSL Certificates บน Direct Admin ในขั้นตอน 4.5

4.7 ให้เรากลับมาที่หน้า DNS ใน CloudFlare จากนั้นเปิดใช้งาน CloudFlare โดยคลิกที่เมฆสีเทา ให้เปลี่ยนเป็นสีส้มในส่วนของ A Records ที่เป็นโดเมนเนม กับ www.

4.8 ให้ลองเข้ามาที่เว็บไซต์ของตัวเองอีกครั้ง ตรวจสอบ Certificate ในช่อง URL จะเห็นเป็น CloudFlare SSL (Edge Certificate)

การเลือกใช้ www หรือ non-www
หลังจากที่เราติดตั้ง SSL Certificate เรียบร้อยแล้ว ในขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเลือกว่า URL เว็บไซต์ของเราจะใช้ www. นำหน้าหรือไม่ (เช่น https://www.mydomain.com) หรือใช้เป็น Naked domain name แบบไม่มี www. นำหน้า (https://mydomain.com)
การตั้งค่า Force Redirect คือการที่เราพาผู้เข้าชมไปยัง URL หลักของเรา (แบบมี หรือไม่มี www) โดยอัตโนมัติเสมอ ไม่ว่าผู้เข้าชมจะพิมพ์ชื่อ URL เว็บเราแบบมี หรือไม่มี www. ก็ตาม
การทำ Force Redirect เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการทำ SEO โดยจะป้องกันการที่เว็บไซต์เรามี URL ต่างกัน (www และ non-www) แต่มีหน้าตา-เนื้อหาเหมือนกันทั้งหมด (Canonical URL)
5.1 การตั้งค่า Forced Redirect นั้นให้เราไปที่เมนู Domain Setup ในหน้า Direct Admin แล้วคลิกเลือกโดเมนที่เราต้องการตั้งค่า


5.2 ในช่อง Force Redirect ให้เราเลือกว่าจะให้เว็บเรามี หรือไม่มี www. (ในตัวอย่างต่อจากนี้จะใช้ Force Redirect แบบมี www.) จากนั้นคลิกที่ Save
ในส่วนนี้เราจะตั้งค่า https เพิ่มอีกอย่างคือการตั้งค่าการใช้งานโฟลเดอร์ private_html โดยปกติหากเราเปิดใช้งาน SSL เว็บไซต์ของเราจะเก็บไฟล์ไว้ได้สองที่คือ http เก็บไว้ในโฟลเดอร์ public_html และ https เก็บไว้ในโฟลเดอร์ private_html (Use a directory named private_html)
เนื่องจากเราต้องการให้เว็บไซต์ของเราเข้าใช้งานผ่าน https ได้เท่านั้น (ผ่านการตั้งค่าในขั้นตอนที่ 4.3) ให้เราตรวจสอบว่าตัวเลือกในช่อง private_html setup นั้นถูกตั้งค่าอยู่ที่ Use a symbolic link และ Force SSL เปิดอยู่ จากนั้นคลิก Save
การที่เราเลือก Use a symbolic link คือการที่เรารวมโฟลเดอร์ private_html และ public_html เข้าด้วย และเก็บไฟล์ในโฟลเดอร์ public_html เป็นหลัก


ติดตั้ง WordPress บน ThaiDataHosting
หลังจากที่เราตั้งค่าที่จำเป็นตามขั้นตอนข้างต้นเรียบร้อยแล้ว ในส่วนนี้เราจะมาเริ่มติดตั้ง WordPress บน ThaiDataHosting กัน
6.1 ให้เข้ามาที่หน้า Home ใน Direct Admin จากนั้นเลื่อนลงมาด้านล่างตรงส่วนของ Apps Installer จากนั้นคลิกที่ WordPress เพื่อเริ่มการติดตั้ง WordPress บน ThaiDataHosting

6.2 ให้คลิกที่ Install ด้านซ้ายบนเพื่อเข้าสู่เมนูการตั้งค่า WordPress

6.3 ให้เราตรวจสอบตัวเลือกการตั้งค่าต่างๆก่อนการติดตั้ง WordPress ดังนี้

Softaculous สำหรับติดตั้ง WordPress
- Choose the version you want to install: เลือกเวอร์ชันของ WordPress ที่ต้องการติดตั้ง (แนะนำให้ติดตั้ง 5.3 เวอร์ชันล่าสุด)
- Choose Installation URL:
- Installation Protocol: เลือก URL ที่เราใช้สำหรับติดตั้งว่าจะให้มี https และ www หรือไม่ (แนะนำให้ใช้ https เสมอ ส่วน www จะมี หรือไม่มีนั้นใช้ตามที่เราตั้งค่าในขั้นตอนที่ 5.2)
- Choose Domain: ตรวจสอบว่าชื่อโดเมนตรงกับเว็บที่เราต้องการติดตั้ง
- In Directory: ตั้งชื่อโฟลเดอร์ที่เราต้องการติดตั้ง ปล่อยว่างถ้าต้องการติดตั้งใน root folder
- Site Name / Description: ตั้งชื่อ และรายละเอียดของเว็บไซต์ (แก้ไขทีหลังได้)
- Enable Multisite (WPMU): ติดตั้ง / ใช้ Admin Panel เดียวในการจัดการเว็บ WordPress หลายๆเว็บที่อยู่ในชื่อโดเมนเนมของเรา (ติดตั้ง WordPress ในหลายซับโดเมน หรือหลายโฟลเดอร์บนเว็บไซต์ของเรา)
- Admin Username / Password: ตั้งชื่อ และรหัสผ่านสำหรับเข้าใช้งาน WordPress Admin Panel (username ตั้งแล้วไม่สามารถเปลี่ยนได้ และนำให้ใช้ username ที่ไม่ใช่ admin)
- Admin Email: ใส่อีเมล์ของ Admin โดยเป็นอีเมล์ที่ WordPress จะใช้ส่งข้อความแจ้งเตือนต่างๆ
- Select Language: เลือกภาษาในหน้า Admin Panel
- Limit Login Attempts (Loginizer): ติดตั้งปลั๊กอินสำหรับจำกัดจำนวนครั้งที่ให้ล็อกอินผิดได้ (แนะนำให้ปล่อยว่างไว้ เราจะติดตั้ง Wordfence แทน)
- Classic Editor: สำหรับใช้โปรแกรมจัดหน้าแบบเก่า กรณีเรามีใช้ปลั๊กอินจัดหน้าที่ไม่ได้อัพเดท (แนะนำให้ปล่อยว่างไว้)

ในส่วนของ Advanced Options เป็นตัวเลือกการตั้งค่าขั้นสูง (สามารถใช้ค่าตั้งต้นได้เลย)

การตั้งค่า Softaculous
สำหรับติดตั้ง WordPress (Advanced)
- Database Name: ตั้งชื่อฐานข้อมูล
- Table Prefix: ตั้งชื่อนำหน้าสำหรับตารางต่างๆในฐานข้อมูล
- Disable Update Notifications Emails: ปิดการแจ้งเตือนทางอีเมล์เวลา WordPress ออกเวอร์ชันใหม่
- Auto Upgrade: เลือกวิธีการอัพเดทเวลา WordPress ออกเวอร์ชันใหม่
- Do not Auto Upgrade: ปิดการอัพเดทอัตโนมัติ โดยเราต้องคอยกดอัพเดทเองจากใน Admin Panel
- Upgrade to Minor versions only: อัพเดทอัตโนมัติเฉพาะเวอร์ชันย่อย เช่น 5.2.3 เป็น 5.2.4
- Upgrade to any latest version available: อัพเดทอัตโนมัติทุกเวอร์ชัน
- Auto Upgrade WordPress Plugins: อัพเดทปลั๊กอินอัตโนมัติ
- Auto Upgrade WordPress Themes: อัพเดทธีมอัตโนมัติ
- Backup Location: เลือกโฟลเดอร์ที่ใช้ในการ Backup ข้อมูล WordPress ของเรา
- Automated backups: ตั้งความถี่ในการให้ Softaculous ทำการ Backup
- Backup Rotation: ตั้งจำนวนชุด Backup สูงสุดที่มีได้ โดยหากครบจำนวนสูงสุด การ Backup แต่ละครั้งจะลบข้อมูล Backup ที่เก่าที่สุดออก
เมื่อเราตรวจสอบการตั้งค่าต่างๆเรียบร้อยแล้วให้คลิกที่ Install เพื่อเริ่มการติดตั้ง WordPress

6.4 เมื่อติดตั้ง WordPress เสร็จสิ้นจะขึ้นหน้าตามรูปด้านล่าง เราสามารถคลิกที่ลิงก์ Administrative URL เพื่อเข้าสู่ WordPress Admin Panel ได้

6.5 ในหน้า Login ของ WordPress ให้เราใส่ username และ password ที่เราตั้งไว้ในขั้นตอนที่ 6.3 จากนั้นคลิกที่ Login เราจะเข้าสู่หน้า Dashboard


ติดตั้งปลั๊กอิน WP-Rocket ฟรี

7.2 ส่งอีเมล์ไปยัง support@thaidatahosting.com เพื่อขอติดตั้ง WP-Rocket โดยแจ้งชื่อโฮสติ้ง (โดเมนเนมที่เราใช้ตอนสมัครโฮสติ้ง) URL ที่ใช้ในการล็อกอินเข้า WordPress Admin Panel ชื่อ username และ password ดังตัวอย่างตามรูปด้านล่าง

7.3 หลังจากที่เจ้าหน้าที่ของ ThaiDataHosting ได้ติดตั้งปลั๊กอิน WP-Rocket ให้เราเรียบร้อยแล้วจะมีอีเมล์ตอบกลับ

7.4 ให้เราตรวจสอบการติดตั้งปลั๊กอินทีเมนู Plugins > Installed Plugins จะเห็นว่ามีปลั๊กอิน WP-Rocket เพิ่มขึ้นมา

7.5 ให้เรากลับไปที่หน้า Users > All Users จากนั้นเลือกที่ user ชั่วคราวที่เราสร้างไว้แล้วคลิกที่ Delete จะมีหน้าจอให้เรายืนยันการลบ user ให้เราคลิกที่ Confirm Deletion เพื่อลบ user ชั่วคราวออกเป็นอันเสร็จการติดตั้ง WP-Rocket

ติดตั้งปลั๊กอิน Elementor สำหรับจัดหน้าเพจ
ขั้นตอนส่วนนี้จะเป็นการติดตั้งปลั๊กอิน Elementor ที่ใช้ช่วยเราในการจัดหน้าเพจ และปรับแต่งธีมต่างๆได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และแอดว่าใช้งานดีกว่าตัวจัดหน้าเพจของ WordPress เองค่อนข้างมาก
8.1 ให้เราไปที่เมนู Plugins > Add New จากนั้นพิมพ์ “Elementor” ในช่องค้นหาด้านขวาบน เลือกติดตั้งปลั๊กอิน Elementor โดยคลิกที่ Install Now หลังจากติดตั้งเสร็จแล้วให้คลิกที่ Activate เพื่อเปิดการใช้งานปลั๊กอิน


8.2 การใช้งาน Elementor นั้นให้เราเข้ามาที่หน้าโพสท์ หรือ เพจ จากเมนู Posts หรือ Pages ที่อยู่ด้านซ้าย จากนั้นคลิกที่ Edit with Elementor


การตั้งค่าอีเมล์
ในส่วนนี้จะเป็นการสร้างอีเมล์ในชื่อโดเมนเนมของเรา รวมถึงการเชื่อมอีเมล์ของเราเข้ากับผู้ให้บริการอีเมล์ภายนอก (ในตัวอย่างนี้จะใช้ Gmail) ในการรับ-ส่งอีเมล์แทนการใช้ Webmail บน Direct Admin
การสร้างอีเมล์
9.1 ในหน้า Direct Admin ให้เราคลิกที่เมนู E-mail Accounts ที่อยู่ในส่วนของ E-mail Management เพื่อเข้าสู่หน้าการตั้งค่าอีเมล์

9.2 คลิกที่ Create E-Mail account เพื่อสร้างอีเมล์ใหม่

9.3 เราจะเข้าสู่หน้าตั้งค่าสำหรับสร้างอีเมล์ใหม่ ให้ตั้งชื่ออีเมล์ ตั้งรหัสผ่าน กำหนกขนาดของเมล์บอกซ์ และจำนวนอีเมล์สูงสุดที่สงได้ต่อหนึ่งวัน (ตั้งค่าได้ตั้งแต่ 1-100 ฉบับต่อหนึ่งวัน) จากนั้นคลิกที่ Create

9.4 เมื่อสร้างอีเมล์เสร็จเรียบร้อย จะขึ้นหน้าสรุปรายละเอียดอีเมล์ที่เราสร้าง รวมถึงรายละเอียดการตั้งค่าอีเมล์เซิร์ฟเวอร์ ให้เรา Screenshot หรือ เซฟชื่อเมล์เซิร์ฟเวอร์ไว้

การเข้าใช้งาน WebMail บน Direct Admin
9.5 ในหน้า Direct Admin ให้คลิกที่เมนู Webmail ด้านบน

9.6 เราจะเข้ามาสู้หน้าล็อกอินของ Webmail ให้เราใส่ username และ password ที่ได้จากขั้นตอนที่ 9.4 จากนั้นคลิกที่ Login


การเชื่อมอีเมล์แอ็กเคานต์เข้ากับ Gmail
9.7 ให้เข้ามายัง Gmail ของเราจากนั้นคลิกที่รูปเฟืองด้านขวาบน แล้วเลือก Settings

9.8 เลือก Accounts and Import จากเมนูด้านบน Send Mail As: คือการตั้งค่าให้ใช้ Gmail ในการส่งอีเมล์แทน Webmail ของเรา โดยชื่ออีเมล์ที่ส่งสามารถใช้ชื่อแอ็กเคานต์ที่เราสร้างเป็นชื่อโดเมนเนมของเราได้ (mail@domain.com) ในส่วนของ Check email from another account: จะเป็นการดึงเมล์ที่ส่งเข้า Webmail ในเมล์เซิร์ฟเวอร์ของเราเข้ามายัง Gmail

9.9 การตั้งค่าใน Send Mail As: ให้เราใส่ที่อยู่อีเมล์ที่เราสร้างใน ThaiDataHosting ในช่อง Email address จากนั้นคลิก Next

9.10 ต่อไปเราจะต้องตั้งค่าเพื่อเชื่อมต่อ Gmail เข้ากับเมล์เซิร์ฟเวอร์ของเรา โดยเอาชื่อเมล์เซิร์ฟเวอร์จากช่อง SMTP Server รวมทั้ง username และ password ในขั้นตอนที่ 9.4 มาใส่ในช่อง SMTP Server ของ Gmail ตั้งเลข Port เป็น 587 ส่วน username และ password ให้ใช้ของ Webmail เราที่เราสร้างในขั้นตอนที่ 9.4
SMTP (หรือ Simple Mail Transfer Protocol) นั้นเป็นโปรโตคอลสำหรับการส่งอีเมล์ผ่านเมล์เซิร์ฟเวอร์ ในที่นี้คือเราส่งเมล์จาก Gmail ผ่าน Webmail เซิร์ฟเวอร์ที่อยู่บน ThaiDataHosting เพื่อใช้ชื่ออีเมล์ตามชื่อโดเมนเนมของเรา แทนที่จะเป็น @gmail.com

9.11 จากนั้น Gmail จะส่ง Verification Code เข้าไปที่ Webmail ของเรา ให้เราล็อกอินเข้า Webmail บน ThaiDataHosting จากนั้นเอาเลข Confirmation Code มาใส่ในช่อง Enter and verify the confirmation code แล้วกด Verify เป็นอันเสร็จสิ้นในส่วนของการตั้งค่าการส่งเมล์ออก
สำหรับคนที่เพิ่งเปลี่ยน Nameserver อาจต้องรอให้ DNS อัพเดทให้เรียบร้อยก่อนซัก 24 ชั่วโมง เราถึงจะได้รับเมล์จาก Gmail

9.12 เข้าสู่การตั้งค่าใน Check email from another accounts ให้ใส่อีเมล์จาก Webmail ของเรา จากนั้นคลิก Next เลือก POP3 และคลิก Next อีกที



9.13 นำค่าจาก POP/IMAP Server รวมทั้ง username และ password ในขั้นตอนที่ 9.4 มาใส่ในช่อง Server และใช้เลข Port เป็น 110
- Leave a copy of retrieved message: คลิกเลือกเพื่อเก็บเมล์ต้นฉบับของเราไว้ใน Webmail หลังจากที่ Gmail ดึงเมล์ออกมาแล้ว หากไม่เลือก เมื่อเมล์ส่งเข้ามาที่ Gmail เมล์ต้นฉบับในเว็บเมล์จะถูกลบทิ้ง
- Always use a secure connection: เป็นการเข้ารหัสอีเมล์ระกว่างส่งจาก Webmail มาที่ Gmail (ไม่ต้องเลือก เนื่องจากเมล์เซิร์ฟเวอร์ของ ThaiDataHosting ไม่รองรับฟีเจอร์นี้)
- Label incoming messages: เป็นการติดแท็กให้รู้ว่าเป็นเมล์ที่ส่งต่อมาจาก Webmail
หลังจากนั้นคลิกที่ Add Account เป็นอันเสร็จการตั้งค่าใน Gmail
POP (หรือ Post Office Protocol) นั้นเป็นโปรโตคอลสำหรับการรับอีเมล์ผ่านเมล์เซิร์ฟเวอร์ ในที่นี้คือเรารับอีเมล์ตามชื่อโดเมนเนมของเราผ่าน Webmail จากนั้นค่อยส่งต่อไปยัง Gmail ของเรา

อ่านจบแล้ว ไงต่อ...?
บทความนี้มีประโยชน์กับคุณแค่ไหน ?
โหวตเลย! เรายินดีรับฟังทุกความคิดเห็น เพื่อปรับปรุงบทความให้มีประโยชน์กับคุณมากที่สุด
คุณคาดหวังอะไรในบทความนี้ หรือมีอะไรที่อยากให้เราเพิ่มเติม?
แชร์ต่อ…
อ่านจบแล้วก็แชร์ความรู้นี้ต่อ ให้เพื่อนๆที่สนใจการทำเว็บ หรือทำร้านขายของออนไลน์ด้วยไงล่ะ คลิกเพื่อแชร์จากลิงก์โซเชียลมีเดียขาประจำด้านล่างได้เลย! (แอดขอขอบคุณที่ช่วยแบ่งปันความรู้ให้เพื่อนๆนะ =/\=)
บทความแนะนำ
